• 086-481-0720
  • science@ftu.ac.th
  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาลัยฟาฎอนี
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

ในการประชุมสภาวิทยาลัยอิสลามยะลา วันที่  27  กันยายน พ.ศ.2546 ได้มีมติอนุมัติหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ (หลักสูตรนานาชาติ) จึงได้จัดตั้ง “คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ ชีคกอซิม บิน มุหัมมัด อาล-ษานีย์” เพื่อจัดการเรียนการสอน ศึกษาค้นคว้า วิจัย ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ๆ ในแขนงวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ วิทยาศาสตร์บูรณาการ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ โดยต่อยอดภูมิปัญญาเดิมและสร้างความรู้ใหม่เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน วิจัยทางวิทยาศาสตร์ และอื่น ๆ ที่มีความสอดคล้องกับหลักการอิสลาม

ในช่วงแรกได้จัดตั้งสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ (หลักสูตรนานาชาติ)เป็นสาขาวิชาแรกและสาขาวิชาเดียว  และในปีการศึกษา  พ.ศ.2547 เป็นปีแรกที่ได้เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคโนโลยีสารสนเทศ) หลักสูตรนานาชาติ ต่อมาวันที่  5  กุมภาพันธ์  พ.ศ.2549 ได้จัดตั้งสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ขึ้นเป็นสาขาวิชาที่สองของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ  ในปีการศึกษา  พ.ศ.2549 เป็นปีแรกที่ได้เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์) และ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (วิทยาการคอมพิวเตอร์)หลักสูตรปรับปรุง ในปีเดียวกัน  ปัจจุบัน   คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ ได้แบ่งหน่วยงานออกเป็น 2 สาขาวิชาและ 1 หน่วยงาน คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ และสำนักงานคณะ เปิดสอนหลักสูตรในระดับ ปริญญาตรี หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์) และหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (วิทยาการคอมพิวเตอร์) หลักสูตรนานาชาติ

อนึ่งแผนพัฒนาทางด้านหลักสูตรระ หว่างพ.ศ.2551-2553 ทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯได้มีการวางแผนที่จะเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร บัณฑิต(เคมีประยุกต์) ในปีการศึกษา พ.ศ.2552 และวิทยาศาสตรบัณฑิต (ชีววิทยาประยุกต์) ในปีการศึกษา พ.ศ.2553 เพื่อรองรับความต้องการของชุมชนและสังคมในอนาคต

ประวัติโดยย่อ ชีค กอซิม บินมุหัมมัด อาล-ษานีย์ และชีคฮามัด บินคอลีฟะห์ อาล-ษานีย์

ชีค กอซิม บินมุหัมมัด อาล-ษานีย์ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งรัฐกาตาร์ยุคใหม่ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้ปกครองรัฐ กาตาร์ สืบทอดจากบิดาของท่าน ชีค มุหัมมัด บิน ษานีย์ ในปีคศ. 1878   ซึ่งเชค มุหัมมัด บินษานีย์ นับเป็นชีคคนแรกจากตระกูลอาล-ษานีย์ที่ปกครองรัฐกาตาร์   เดิมตระกูล อาล-ษานีย์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก เผ่าตะมีมตั้งรกรากอยู่แถบ Gibrin ทางตอนใต้ ของ Najd และได้อพยพมายังกาตาร์ในช่วงต้นศตวรรษที่18 ซึ่งขณะนั้น กาตาร์เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร ออตโตมัน      (อุษมานียะฮฺ)

ชีคมุหัมมัด บินกอซิม อาล-ษานีย์ ได้ฉายแววความเฉลียวฉลาดและความเป็นผู้นำตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองรัฐกาตาร์ ท่านต้องเผชิญกับอิทธิพลของสองอาณาจักรที่เกรียงไกรในอดีต คืออาณาจักรตุรกีที่เคยครอบครองดินแดนแถบนี้ และสหราชอาณาจักรอังกฤษที่กำลังขยายอิทธิพลในอินเดียและตะวันออกกลาง แต่ท่านก็สามารถประคับประคองรัฐกาตาร์ให้กลายเป็นรัฐเอกราช และได้รับการยอมรับจากสองมหาอำนาจในขณะนั้น หลังจากนั้นท่านก็มุ่งสถาปนาความมั่นคง ความเป็นปึกแผ่น สร้างความยุติธรรมและความมั่งคั่งให้แก่ประเทศ  จนเป็นที่ยอมรับว่าท่านเป็นผู้ทรงก่อตั้งรัฐกาตาร์ยุคใหม่ และยึดเอาวันที่ท่านทรงขึ้นปกครองประเทศในวันที่ 18 ธันวาคม 1878 เป็นวันชาติกาตาร์จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันรัฐกาตาร์ปกครองและบริหารโดย ชีคฮามัด บิน คอลีฟะฮ์ อาล-ษานีย์ ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งเป็นประมุขผู้ปกครองรัฐ  นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศ  ท่านได้ขึ้นปกครองรัฐกาตาร์ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน  คศ.1995 ซึ่งถือว่าท่านเป็นทายาทสืบทอดการปกครองรัฐกาตาร์ยุคใหม่คนที่ 6 จากตระกูลอาล-ษานีย์ ต่อเนื่องมาจากชีคกอซิมบรรพบุรุษของท่านซึ่งเป็นผู้ริเริ่มสถาปนารัฐกาตาร์ ยุคใหม่คนแรก  ความเจริญและการพัฒนาในด้านต่างๆได้ดำเนินอย่างรวดเร็วในสมัยของชีคฮามัด บินคอลีฟะฮ์ อาล-ษานีย์ ไม่ว่าในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษา จนทำให้กาตาร์ได้กลายเป็นรัฐที่เจริญรุดหน้าและมั่งคั่งที่สุดในตะวันออก กลาง รายได้เฉลี่ยประชากรสูงที่สุดในโลก ท่านไม่ได้มุ่งพัฒนาประเทศกาตาร์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ท่านได้สนใจพัฒนาพี่น้องมุสลิมในประเทศต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา

การให้ความช่วยเหลือมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาโดยชีคฮามัด บินคอลีฟะฮ์ได้เริ่มต้นด้วยการบริจาคเพื่อการก่อสร้างอาคารสำนักงาน อธิการบดี และอาคารคณะอิสลามศึกษา ในปี ค.ศ.2002 ด้วยงบประมาณจำนวน30 ล้านบาท  และในปี คศ.2005 เชค ฮามัด บิน คอลีฟะฮ์ ได้บริจาคเพิ่มเติม อีก 30 ล้านบาท เพื่อการก่อสร้างอาคารวิทยาศาสตร์ และเพื่อซื้ออุปกรณ์ วัสดุครุภัณฑ์ ใช้ในการบริหารและการเรียนการสอน เพื่อเป็นการให้เกียรติและระลึกถึงบรรพบุรุษของท่านผู้ก่อตั้งรัฐกาตาร์ยุคใหม่ ท่านจึงทรงอนุญาตให้ตั้งชื่ออาคาร และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่า อาคารคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีคกอซิม บินมุหัมมัด อาล-ษานีย์ ซึ่งนับเป็นคณะวิทยาศาสตร์ฯ แห่งแรก ที่ได้รับการสนับสนุนจากท่านชีคฮามัด บินคอลีฟะฮ์ ผู้ปกครองรัฐกาตาร์ในปัจจุบันและได้รับเกียรติให้ใช้ชื่อดังกล่าว